วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

พระสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก



พระสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก?[1]
 ๑. บทนำ
            พระสูตรในพระสุตตันตปิฎกมิได้ถูกเรียบเรียงตามกาลเวลาที่พระสูตรถูกแสดง แต่ถูกจัดเรียบเรียงเป็นหมวดหมู่ตามความเหมาะสม พระสูตรแรกที่ถูกแสดงไว้ในพระสุตตันตปิฎกคือ พรหมชาลสูตร (สูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ)อยู่ใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เป็นพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙
๒. ใจความสำคัญของพรหมชาลสูตร[2]
            พรหมชาลสูตรเป็นพระสูตรขนาดยาวสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสั่งสอนเหล่าภิกษุหลังจากเหล่าภิกษุได้สนทนากันเรื่องที่สุปปิยปริพาชกได้กล่าวติเตียนพระรัตนตรัย และพรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ได้กล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย เป็นพระสูตรขนาดยาวจำนวนหลายหน้า ซึ่งสามารถสรุปใจความสำคัญได้เป็น ๕ ส่วนดังนี้
          ๒.๑ มิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย และมิให้ยินดีเมื่อมีผู้สรรเสริญพระรัตนตรัย
          ๒.๒ กล่าวถึงรายละเอียดของ จูฬศีล, มัชฌิมศีล, มหาศีล (ศีลอย่างเล็กน้อย, อย่างกลาง และอย่างใหญ่)
          ๒.๓ รายละเอียดของทิฏฐิ ๖๒ ประการ (ปรารภเบื้องต้น ๑๘, เบื้องปลาย ๔๔)
          ๒.๔ ทรงตรัสว่าผู้ที่มีทิฏฐิ ๖๒ ประการนี้ ย่อมได้เสวยอารมณ์จากอายตนะทั้ง ๖ มีความยึดมั่นถือมั่นดังปลาที่ติดอยู่ในข่าย
๒.๕ สุดท้าย จึงทรงตรัสว่าตถาคตเป็นผู้ถอนตัณหาอันจะทำให้ติดอยู่ในภพได้แล้ว
๓. สาเหตุที่นำพรหมชาลสูตรมาแสดงไว้เป็นพระสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก?
            มีข้อสังเกตว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรไว้เป็นพระสูตรแรก หลังตรัสรู้ เหตุใดจึงไม่นำธัมมจักกัปปวัตตนสูตรมาแสดงเป็นพระสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก แต่กลับนำพรหมชาลสูตรมาแสดงไว้เป็นพระสูตรแรกการเรียบเรียงลำดับของพระสูตรเช่นนี้ ย่อมต้องมีเหตุผลอันลึกซึ้งซึ่งพระอรหันต์ทั้งหลายที่ได้ร่วมกันทำการสังคายนาได้พิจารณาไว้ดีแล้ว ในที่นี้จะขอวิเคราะห์เหตุผลการนำพรหมชาลสูตรขึ้นแสดงเป็นพระสูตรแรก โดยพิจารณาตามหัวข้อสำคัญในพระสูตรไปตามลำดับ ดังนี้
          ๓.๑ มิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย และมิให้ยินดีเมื่อมีผู้สรรเสริญพระรัตนตรัย เป็นการเปิดใจผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาได้ว่าพระพุทธเจ้ามิได้ทรงต้องการการสรรเสริญหรือยอมรับ มิได้ทรงโกรธหากมีผู้ไม่ยอมรับ ไม่บังคับให้ศรัทธา หากแต่มีเหตุและผลให้ไปพิจารณาเอง
            ๓.๒ จูฬศีล, มัชฌิมศีล, มหาศีล (ศีลอย่างเล็กน้อย, อย่างกลาง และอย่างใหญ่) เนื่องจากศีลเป็นบาทฐานของการเริ่มฝึกตนในทางพระพุทธศาสนาตามหลักของไตรสิกขา พระสูตรเรื่องศีลจึงถูกนำมารวมไว้ใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (เล่มที่ ๙) เป็นเล่มแรกในหมวดพระสุตตันตปิฎก
          ๓.๓ รายละเอียดทิฏฐิ ๖๒ ประการ (ปรารภเบื้องต้น ๑๘, เบื้องปลาย ๔๔) ชี้แจงความเห็นที่ผิดทั้ง ๖๒ ประการ เป็นการปูพื้นฐานในการศึกษาต่อไป ไม่ให้เข้าใจหรือตีความผิดไปเป็นความเห็นใดใน ๖๒ ประการนี้ เพราะทราบแต่เบื้องต้นแล้วว่าสิ่งใดไม่ใช่ สิ่งใดไม่ถูก เป็นการให้ผู้เริ่มศึกษาได้พิจารณาความเห็นเดิมของตน ว่าอยู่ในขอบข่ายของทิฏฐิ ๖๒ ประการนี้บ้างหรือไม่
          ๓.๔ ทรงตรัสว่าผู้ที่มีทิฏฐิ ๖๒ ประการนี้ ย่อมได้เสวยอารมณ์จากอายตนะทั้ง ๖ มีความยึดมั่นถือมั่นดังปลาที่ติดอยู่ในข่าย ผู้ศึกษาจะได้ทราบถึงผล ที่เกิดจากเหตุแห่งการมีทิฏฐิ ๖๒ ประการนี้
          ๓.๕ สุดท้าย จึงทรงตรัสว่าตถาคตเป็นผู้ถอนตัณหาอันจะทำให้ติดอยู่ในภพได้แล้วชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะหลุดพ้นจากข่ายแห่งความยึดมั่นถือมั่นนี้ ถือเป็นการปูทางก่อนที่จะเริ่มต้นศึกษาในหลักธรรมต่างๆ และเพื่อให้เข้าใจในเป้าหมายของพุทธศาสนา ซึ่งก็คือความหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง
            ด้วยเหตุผลทั้งปวงที่ได้กล่าวมาดังนี้แล้ว จึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะนำพรหมชาลสูตรมาแสดงไว้เป็นพระสูตรแรกในพระสุตตันตปิฎก เพื่อเป็นการทั้งเปิดใจ และปูทางสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาพระสูตร และหลักธรรมข้ออื่นๆต่อไป





[1] คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกศึกษา, (กรุงเทพมหานคร : ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๓), หน้า ๒๗-๓๐.
[2] ดูรายละเอียดใน ที.สี. (ไทย) ๙/๑/๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น